บล็อกนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้ที่อยู่ในความสนใจ

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รวบรวมการแถลงข่าวชี้แจงกรณีปราสาทพระวิหารและจ.ม.จากเจ้าศรีสวัสดิ์ถึงนายกรัฐมนตรีไทย

http://www.mfa.go.th/web/2662.php?id=36257
เปิดจ.ม."เจ้าศรีสวัสดิ์"ที่ปรึกษากษัตริย์กัมพูชา ถึง"มาร์ค" พระวิหารสัญลักษณ์ปรองดอง 

แถลงการณ์"สุขุมพันธุ์" ยัน"เอ็มโอยู 2543" เครื่องประกันไม่ให้ไทยเสียดินแดน

หมายเหตุ - ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ ชี้แจงถึงกรณีการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาหรือเอ็มโอยู ปี 2543 ขณะที่ เจ้าศรีสวัสดิ์ โธมิโก พระราชนัดดาในองค์สมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระราชบิดาในสมเด็จนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในองค์กษัตริย์กัมพูชา อันเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งรัฐมนตรี ได้ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 2 สิงหาคม ขอให้ทั้งสองชาติสมานฉันท์กัน มีรายละเอียดดังนี้




เปิดจ.ม."เจ้าศรีสวัสดิ์"ถึง"มาร์ค" พระวิหารสัญลัปรองดอง
ปักกิ่ง 2 สิงหาคม 2553
เรียน ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

กรุณานำความขึ้นกราบบังคมทูลฯต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาทราบถึงความเคารพยิ่งและความปรารถนาในอันที่จะถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงและมีรัชสมัยที่รุ่งเรืองยืนยาว
ข้าพเจ้าขอแสดงความชื่นชมมายัง ฯพณฯ และต่อบรรดาสมาชิกในคณะรัฐบาลของราชอาณาจักรไทย

ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมต่อการที่ราชอาณาจักรไทยประสบผลในการพัฒนาการอันน่าประทับใจอย่างยิ่งทั้งในทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดมั่นในด้านการศึกษาอย่างเข้มแข็งอันเป็นรากฐานให้ประเทศเติบโต และข้าพเจ้ายังซาบซึ้งเป็นพิเศษต่อราชอาณาจักรไทยที่ได้แสดงบทบาทสำคัญในอดีตที่ผ่านมา เมื่อไม่นานมานี้ในการให้ความช่วยเหลือกัมพูชาจนสามารถฟื้นฟูอธิปไตยและนำไปสู่การยุติความขัดแย้งและทนทุกข์ทรมานนานสองทศวรรษลง

ชาวเขมรไม่มีปรารถนาอื่นใดนอกเหนือจากการเยียวยาบาดแผลในอดีตและดำรงชีวิตอย่างสันติ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมนานาชาติ ประชาคมโลก และสมาชิกขององค์กรต่างๆ ในระดับภูมิภาค กัมพูชาปรารถนาที่จะบรรลุถึงพัฒนาการต่างๆ อย่างสมานฉันท์กับทุกๆ ประเทศ เพื่อทำนุบำรุงให้เกิดความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือซึ่งกันและกันกับทุกๆ ประเทศ และเหนือสิ่งอื่นใดกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดโดยตรงของเรา

ราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย มีประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมกัน แท้จริงแล้วไม่เพียงมีร่องรอยแห่งความขัดแย้งแต่ยังมีห้วงเวลาแห่งสันติที่ซึ่งการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันระหว่างประเทศทั้งสองยังประโยชน์ใหญ่หลวงให้กับทั้งสองประเทศ เรามีอารยธรรม, วัฒนธรรม และศาสนา ร่วมกัน ไม่ว่าสิ่งใดๆ ที่แบ่งแยกระหว่างเราเอาไว้ ไม่อาจแข็งแกร่งเท่ากับสิ่งต่างๆ ซึ่งผูกพันเราเข้าไว้ด้วยกันแน่นอน

ด้วยเหตุผลทั้งหลายนี้ความเจ็บปวดในการได้เป็นประจักษ์พยานต่อการเสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็วของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสองที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจึงมีสูงมากเป็นพิเศษ เป็นการง่ายที่ประชาชนของทั้งสองประเทศจะถูกปลุกปั่นด้วยโวหารของกลุ่มคนคลั่งชาติจำนวนน้อย แต่คุณค่าของสันติในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาควรทำให้เข้าใจกระจ่างด้วยว่า การอ้างสิทธิเหนือดินแดนซึ่งกลายเป็นกระแสนิยมและวาทกรรมทางการเมืองอย่างมากเมื่อไม่นานมานี้มีพื้นฐานใดๆ รองรับ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ประวัติศาสตร์ดังกล่าว ไม่ได้งดงามนัก แนวเขตแดนระหว่างประเทศของเราทั้งสองนั้นแท้จริงแล้วถูกกำหนดให้เราโดยมหาอำนาจเจ้าของอาณานิคม ซึ่งไม่ได้ให้ความเคารพอื่นใดนอกเหนือจากผลประโยชน์แห่งตนเท่านั้น ในขณะที่ราชอาณาจักรไทยไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ทั้งชาวเขมรและชาวไทยก็สามารถยึดถือได้ว่าพวกตนล้วนตกเป็นเหยื่อของเจ้าอาณานิคมในอดีตเหล่านี้

ข้าพเจ้าเข้าใจถึงความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนไทยต่อการบีบบังคับที่กระทำต่อพวกเขาโดยมหาอำนาจต่างชาติ ในฐานะเป็นชาวกัมพูชา ข้าพเจ้าไม่อาจลืมได้ว่า ชาร์ลส์ ทอมสัน ผู้สำเร็จราชการแคว้นโคชินไชน่า นำปืนมาจัดเรียงไว้ด้านหน้าพระราชวัง เพื่อบีบบังคับให้สมเด็จพระนโรดมสีหนุ ลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาอื้อฉาวเมื่อปี 1884 เช่นเดียวกันข้าพเจ้าก็ไม่อาจลืมได้ว่า สนธิสัญญา 1896 นั้น รับรองบังคับใช้โดยอังกฤษและฝรั่งเศสถือเป็นการหยามหมิ่นทั้งต่อกัมพูชาและไทย

การอ้างสิทธิเหนือดินแดนของคนไทยในปัจจุบันเหนือพระวิหารนั้น เป็นการใช้สภาพภูมิศาสตร์เป็นบรรทัดฐานในการอ้างความชอบธรรม ก็เป็นเช่นเดียวกับในปี 1954 คือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก เช่นเดียวกันกับการแสดงให้เห็นว่า สนธิสัญญาเขตแดนปี 1904 นั้น ไม่เป็นธรรมเพียงใด ทั้งนี้ เป็นความจริงที่ว่า ภูมิประเทศทางธรรมชาติต่างๆ เช่น ธารน้ำ แนวสันปันน้ำ แนวสันเขา เส้นลาดชันต่างๆ ล้วนนำมาใช้ในการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศ แต่ขอให้ระลึกไว้เช่นกันว่า ข้อพิจารณาว่าด้วยชาติพันธุ์และภาษาก็ถือเป็นเกณฑ์สำคัญในเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

จากมุมมองนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สนธิสัญญาเขตแดนปี 1904 ทำให้ชาวเขมรเป็นเรือนล้านต้องแยกจากมาตุภูมิ กัมพูชาถูกตัดแบ่งเป็นส่วนๆ และปล่อยให้อยู่ภายใต้อำนาจต่างชาติเป็นการดูแคลนความคาดหวังของประชาชนกัมพูชาอย่างเต็มที่ หากประเทศของเราทั้งสองอ้างอิงถึงความไม่เป็นธรรมในประวัติศาสตร์ ก็ควรจะเห็นได้ชัดเจนว่ากัมพูชาต้องแบกรับไว้มากกว่า

ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ในยุคดังกล่าว สิทธิของประชาชนในอันที่จะเลือกวิถีของตนเองอย่างอิสระไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ กระนั้น ผลที่บังเกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ มีชาวเขมรเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ภายนอกประเทศรวมทั้งในไทยมากกว่าภายในดินแดนของกัมพูชาเอง หากหลักเรื่องชาติพันธุ์และภาษาถูกนำมาใช้ในการปักปันเขตแดนระหว่างกัมพูชาและไทย ผลที่ได้คงแตกต่างจากที่เป็นอยู่โดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างของอดีตรัฐยูโกสลาเวีย ที่ถูกมหาอำนาจสร้างขึ้นอย่างจอมปลอมโดยไม่ให้ความสนใจความเป็นจริงในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ นำไปสู่ความขัดแย้งในโครเอเชีย บอสเนีย และโคโซโว เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าการครอบงำบิดเบือนเหล่านั้นเปราะบางเพียงใดและผลลัพธ์นั้นเลวร้ายเพียงใด

ในแง่นี้ ตราบเท่าที่นำเอาความเป็นชาตินิยมสุดโต่งมาคำนึง กัมพูชาควรมีสิทธิเต็มเปี่ยมในการบอกเลิกสนธิสัญญาปี 1904 เพื่อให้สามารถนำเอาหลักว่าด้วยชาติพันธุ์และภาษามาร่วมพิจารณาด้วย หลังจากนั้น ก็จะไม่มีประเด็นเรื่องพระวิหารอีกต่อไป เพราะพระวิหารและพื้นที่โดยรอบจะอยู่ลึกเข้าไปในดินแดนกัมพูชา อย่างที่เคยเป็น

อย่างไรก็ตาม นับแต่ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในปี 1953 ภายใต้การนำของเจ้าสีหนุในเวลานั้น กัมพูชาเพียงเรียกร้องขอให้เพื่อนบ้านทั้งหลายและประชาคมนานาชาติยอมรับโดยนิตินัย ถึงแนวเขตแดนตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาต่างๆ ในช่วงศตวรรษที่ 20 และเรื่องนี้ยังคงเป็นเช่นนี้ในปัจจุบัน กัมพูชาไม่เคยเรียกร้องอื่นใดนอกจากนี้

ประเทศของเราถูกกำหนดให้อยู่เคียงข้างกันและกัน เราต่างเป็นสมาชิกอาเซียน องค์กรของภูมิภาคซึ่งมีความปรารถนาจะเปิดพรมแดนระหว่างชาติสมาชิกเพื่อให้พลังแห่งการสร้างสรรค์เป็นอิสระและกลายเป็นที่มาของพัฒนาการอันยั่งยืน การหยิบยกเรื่องการกล่าวอ้างถึงสิทธิเหนือดินแดนถือเป็นความพยายามกระทำการเสมือนโฉบผ่านหน้าประวัติศาสตร์และเป็นอันตรายต่อประชาชนของเรา ด้วยการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรที่อาจหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในการพัฒนาและต่อสู้กับความยากจนของทั้งสองด้านแห่งแนวเขตแดนร่วมของเรา

ในฐานะชาวกัมพูชาผู้หนึ่ง ข้าพเจ้าเชื่อว่าชาวเขมรนับล้านต่างรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ ความปรารถนาที่สุดของข้าพเจ้านั้นคือ การที่ ฯพณฯ จักมองปราสาทพระวิหารว่าเป็นสัญลักษณ์อันยืนนานของความปรองดองระหว่างประเทศของเราทั้งสอง เป็นสัญลักษณ์แห่งความสมานฉันท์ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ตลอดจนเป็นแบบอย่างของความร่วมมืออันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศ

ขอให้ท่านมั่นใจได้ว่าข้าพเจ้ายังให้การนับถือท่านอย่างสูง

(ลงนาม)   ศรีสวัสดิ์ โธมิโก

------------------------------------------------

แถลงการณ์"สุขุมพันธุ์" ยัน"เอ็มโอยู 2543" เครื่องประกันไม่ให้ไทยเสียดินแดน

บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาหรือเอ็มโอยูว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก ที่ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 นั้น เป็นเอ็มโอยูเพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศที่มีเจตนารมณ์ตรงกันในเรื่องความจำเป็นที่ต้องจัดทำหลักเขตแดนทางบกขึ้น

เนื่องจากหลักเขตซึ่งจัดทำโดยคณะปักปันเขตแดนร่วมกรุงสยามและประเทศฝรั่งเศสนั้นสูญหาย ชำรุด หรือ ถูกเคลื่อนย้ายในช่วงเวลาเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดสงครามในกัมพูชาเป็นเวลากว่า 20 ปี

ทั้งนี้ การสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบกนั้นเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และในทางปฏิบัติมีอุปสรรคนานัปการในการดำเนินการ ดังนั้น วิธีดำเนินการที่ดีที่สุดคือ การดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญา เพื่อนำไปใช้เป็นกรอบและประเด็นอ้างอิงในการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนใหม่

ซึ่งหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นข้อผูกมัดในเรื่องวิธีการดำเนินการเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดถึงผลของการดำเนินการ นอกจากนี้ บันทึกลงนามความเข้าใจหรือเอ็มโอยูนั้นประเทศไทยก็เคยทำกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศมานานแล้วคือ มาเลเซียและลาว

ทั้งนี้ สาระสำคัญในเอ็มโอยู ไทยและกัมพูชาตกลงกันว่าวิธีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนนั้นจะดำเนินการในแนวทางตามเอกสารสำคัญคือ 1.อนุสัญญาระหว่างกรุงสยามและฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 2.สนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 และ 3.แผนที่ซึ่งเป็นผลของการปักปันเขตแดน โดยคณะกรรมาธิการร่วมอินโดจีน-สยามตลอดจนเอกสารอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวโยงกับหนังสือสัญญาทั้งสอง นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชายังตกลงกันว่าจะให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) และจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านเทคนิคเพื่อสำรวจแนวเขตแดนและเสนอตำแหน่งที่จะจัดทำหลักเขตแดน โดยขณะที่กำลังสำรวจเขตแดนนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดในสภาพแวดล้อมของบริเวณพื้นที่เขตแดนดังกล่าวด้วย

ดังนั้น หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถได้ข้อสรุปในกรอบการทำงานก็ไม่สามารถเริ่มต้นการทำงานได้ อีกทั้งการยอมรับอนุสัญญาปี ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาปี ค.ศ.1907 เป็นเอกสารพื้นฐานไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดเสียเปรียบ

ส่วนการยอมรับแผนที่ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปักปันเขตแดนโดยคณะกรรมาธิการร่วมอินโดจีน-สยามนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบของการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขต ซึ่งหากแผนที่ฉบับใดฉบับหนึ่ง ไม่เป็นที่ยอมรับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการวินิจฉัยกรณีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 หรือขัดกับหนังสือสัญญาทั้งสอง ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาหาข้อยุติได้ แต่ถ้าไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก็สามารถชะลอการพิจารณาไปก่อนได้เช่นกัน

ในมาตรา 5 ของเอ็มโอยู ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อไทยเนื่องจากเป็นหลักประกันว่ากัมพูชาจะไม่ทำถนนเข้าพื้นที่ และจะดูแลไม่ให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม

แต่ปรากฏว่าช่วงนั้นตรงกับช่วงที่กัมพูชาเริ่มทำถนนเข้าไปในพื้นที่ซึ่งมีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน รวมทั้งชาวกัมพูชาได้เข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ เท่ากับว่าตั้งแต่ปี 2544 กัมพูชาไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญา ปล่อยให้ชาวกัมพูชาเข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ซึ่งมีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน โดยที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้ทักท้วง

นอกจากนี้ เอ็มโอยูฉบับนี้ยังเป็นกรอบสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาด้วย โดยเห็นได้จากการที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จัดการประชุมเจบีซี (คณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา) ขึ้นถึง 3 ครั้งในช่วงที่เกิดข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศใช้เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นเอกสารอ้างอิงในการทักท้วงทุกครั้งไป

ทั้งนี้ เอ็มโอยูฉบับนี้ ยังไม่มีรัฐบาลของฝ่ายใดเสียเปรียบ แม้แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ (ตั้งแต่ปี 2544) และรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้นำเอ็มโอยูนี้ไปใช้ ซึ่งหากสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายไทยจริงก็คงมีการวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว และอาจดำเนินการแก้ไขเนื้อหาด้วยโดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้ดำเนินการไปอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ผลของการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามเอ็มโอยูนี้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นพ้องต้องกันในทุกประเด็น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถยอมรับในประเด็นใดๆ ก็ตาม สามารถชะลอการพิจารณาไปก่อนได้ เพราะไม่มีอำนาจใดบังคับให้เกิดการยอมรับในสิ่งที่ไม่ต้องการได้

ยิ่งไปกว่านั้นผลสรุปของเจบีซีไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะจะต้องได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาอีกด้วย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าเอ็มโอยูฉบับนี้เป็นเครื่องประกันไม่ให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนในพื้นที่ที่อ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อนกัน
--------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น