บล็อกนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้ที่อยู่ในความสนใจ

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

“หนึ่งทศวรรษ วิถีชีวิต วิธีสู้ : ขบวนการประชาชนร่วมสมัย”

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20100917/353618/ผาสุกชี้กองทัพขวางพัฒนาการเมือง-ปฏิรูปส่อเหลว.html
นักวิชาการระบุกองทัพโดดสู่อำนาจหลัง2549 เสนอลดอำนาจ ชี้โจทย์ใหญ่ดึงพลังแดง-เหลืองเข้าสภา ติง"คณิต"มีโพยไม่หาความจริง เมินปฏิรูปแก่หน้าเก่า

วันที่ 17 กันยายน 2553 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวในประเทศไทย” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ“หนึ่งทศวรรษ วิถีชีวิต วิธีสู้ : ขบวนการประชาชนร่วมสมัย”
มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า ขบวนการเสื้อแดงและเสื้อเหลืองเป็นสงครามความคิดและสงครามแย่งชิงมวลชน จุดเริ่มต้นเป็นเพียงความขัดแย้งของบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ


พรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้อยู่ในอำนาจ และพยายามไม่ให้ทักษิณอยู่ในอำนาจได้อีก แต่ความขัดแย้งดังกล่าวไปไกลกว่ากลุ่มชนชั้นนำ ทักษิณได้กลายเป็นตัวแทนของพลเมืองระดับล่างที่ต้องการสังคมที่ไม่เลือกปฏิบัติ พลังพลเมืองตรงนี้ผลักดันให้"ทักษิณ"กลายเป็นนักการเมืองแนวประชานิยม เหมือนเกิดขึ้นในประเทศกลุ่มละตินอเมริกา แต่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย "ทักษิณ"ผันตัวเองเป็นนักการเมืองประชานิยม อ้างอิงความชอบธรรมจากแรงสนับสนุนของประชาชน

เธอกล่าวอีกว่า ทักษิณกลายเป็นคบไฟให้มวลชนได้ใช้เสียงเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือปรับปรุงชีวิตของพวกเขา แต่ความเชี่ยวจัดในการใช้ประชานิยมเข้าสู่อำนาจประกอบกับความมั่งคั่งมหาศาล ทำให้คนชั้นกลางต้องการยึดโยงกับสถาบันดั้งเดิม คือ กองทัพ และพระมหากษัตริย์ เพื่อทดแทนกับจำนวนอันน้อยนิดของกลุ่มตนเมื่อเทียบมวลชนระดับล่างและกลางที่สนับสนุนทักษิณ

"การระดมมวลชนของคนเสื้อเหลืองได้ขยายจำนวนคนเสื้อเหลือง ท้ายที่สุดความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเองได้ขยายขอบเขตระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อหาผู้สนับสนุนสองขบวนการที่ต่างกัน
ตามที่ได้บอกไว้ก่อนหน้า ว่าขบวนการเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เป็นสงครามความคิดและสงครามแย่งชิงมวลชน"

นักวิชาการสตรีกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งของขบวนการส่วนหัวของชนชั้นนำ และขบวนการสังคมที่ก่อตัวขึ้น โยงเข้าด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยมี"ทักษิณ"เป็นตัวเชื่อม
เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น เพราะทักษิณมีบุคลิกเป็นคนหลายแพร่งซึ่งขัดแย้งในตัวเอง
แพร่งหนึ่ง เขาอาจเป็นคนนิยมความสมัยใหม่เป็นนักธุรกิจที่ผันตัวเองเป็นนักการเมืองประชานิยม
อีกแพร่งหนึ่ง เขาเป็นบุคคลที่หยามเหยียดประชาธิปไตยเป็นที่สุด แต่ได้กลายเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย
อีกแพร่งหนึ่ง เขาโกงกินภาษีประชาชนได้อย่างหน้าตาเฉย อีกทั้งหาประโยชน์จากระบบสองมาตรฐานตลอดเวลา แต่ประวัติศาสตร์ก็เต็มไปด้วยบุคคลที่มีบุคลิกแบบนี้ และ"ทักษิณ"ไม่ใช่คนเดียวที่มีบุคลิกแบบนี้

"เรื่องสำคัญคือทำอย่างไรจะให้สงครามทางความคิดและสงครามการแย่งมวลชนหลุดออกจากถนน และเข้าไปสู่กรอบกติกาทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ในระบบรัฐสภา
ซึ่งเรายังมีประสบการณ์เรื่องนี้ไม่มากพอ เพราะถูกรบกวนโดยพลังนอกรัฐสภาอยู่เสมอ
โดยเฉพาะการรัฐประหารที่เกิดขึ้นครั้งใด ทำลายกระบวนการเรียนรู้ที่ได้สั่งสมมา และย้อนสู่ระบอบเดิมที่ความสัมพันธ์เหลวเละกลับมาตลอดเวลา
อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาสังคมนั้นเกี่ยวโยงกับบทบาทกองทัพในการเมืองไทย สถาบันอื่นๆ ได้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่กรณีของกองทัพการรัฐประหาร 2549 ทำให้กองทัพได้เข้ามายืนอยู่ในฐานของอำนาจอย่างเป็นทางการและมีสถาบันรองรับ คือรัฐธรรมนูญ 2550"

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องความกลัวพลังราษฎร ของชนชั้นกลางและชนชั้นนำบางส่วนที่พยายามยึดติดระบบคณาธิปไตยแบบเดิมๆ ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของตัวเอง แต่ถ้าคิดในทางบวก การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น เพราะว่าไม่มีเกมเป็น zero sume game ที่จะเอาให้ตายไปข้างหนึ่ง อาจจะต้องตายไปครึ่งประเทศ ซึ่งจะเป็นความเสียหายอย่างมหาศาล

ดังนั้น อยากเสนอว่าเราต้องเปลี่ยนจาก zero sume game มาเป็นเกมที่จะต้องคิดไปด้วยกันและตกลงกันจะใช้กติกาอะไรเป็นทางออกของการเมือง ขณะนี้จึงเป็นเรื่องทั้งสองฟากจะพัฒนาสู่พรรคการเมืองข้ามพ้นทักษิณ และ ข้ามพ้นการเมืองที่ใช้เงินจำนวนมาก แม้จะมีกลุ่มเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้งอีกต่อไป ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ต้องการการพิสูจน์ และต้องหาทางออกให้กองทัพได้ลดบทบาทของตัวเองอย่างสง่างาม

ชี้ปฏิรูปเหลวถ้ามองข้าม 91ศพ-ไม่หวังบอร์ดแก่หน้าเก่าๆ

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ให้สัมภาษณ์อีกถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เกี่ยวกับปฏิรูปและปรองดองว่า แม้จะมีคณะกรรมการหลายชุด แต่หัวขบวนไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน จะทำอะไรใหม่ๆ หรือจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ชุดนายคณิต ณ นคร เป็นประธานนั้น คนหมดศรัทธาไปแล้ว

เพราะก่อนหน้านี้นายคณิตเคยทำหน้าที่ค้นหาความจริงหลายกรณี เช่น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แต่ไม่เคยสำเร็จ สังคมไม่เคยได้ความจริงที่น่าพอใจ ทั้งที่กรรมการชุดนี้คือหัวใจของการปฏิรูป
ต้องหาความจริงให้ได้ถึงการตายของ 91 ศพใครลงมือทำ จะบอกเป็นกองกำลัง"ชุดดำ"คงไม่เพียงพอ แต่ปรากฎว่าตั้งขึ้นได้ไม่นาน นายคณิตกลับบอกว่าการทำงานมีขอบเขตมาก ทำให้คิดได้ว่านายคณิตมีโพยจากใครไม่ให้ค้นหาความจริงหรือไม่

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวอีกว่า ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน บอกจะขจัดความเหลื่อมล้ำนั้นจะช่วยแก้ความขัดแย้งได้ในระยะยาว เพราะมีหลายมิติทั้งเรื่องทรัพยากร ที่ดิน ภาษี เรื่องศักดิ์ศรีมนุษย์จะมีการแก้หรือไม่ ซึ่งต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้อย่างไร
แต่วันนี้ความเหลื่อมล้ำเป็นแค่วาทกรรม โดยมองกันว่าหากแก้ความเหลื่อมล้ำแล้วจะแก้ปัญหาอื่นได้ทั้งหมด ทั้งที่ความจริงแล้วปัญหาลึกกว่านั้น

เพราะเป็นเรื่องของการเมืองและเรื่องอำนาจ ถ้าแก้แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วละเลยเรื่องการเสียชีวิตของ 91 ศพก็แก้ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นบาดแผลลึกในสังคม ไม่ได้แก้ด้วยการปฏิรูปที่ดินมันคนละเรื่องกัน ต้องทำเรื่อง 91 ศพให้ความจริงปรากฎ หากต้องรับผิดก็ไม่ควรลูบหน้าปะจมูก เพราะมีการตายแบบนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ ไม่ใช่บอกให้ลืมกันไป เพราะเรื่องการเสียชีวิตถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งญาติผู้เสียชีวิตคงรับไม่ได้

"กรรมการที่ตั้งขึ้นปฏิรูปในปัจจุบันยังไม่มีตัวแทนที่มีความชัดเจนว่าเป็นคู่ขัดแย้งในสังคม จึงไม่อาจตอบโจทย์ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่คนที่สังกัดสี แต่ต้องเป็นคนรุ่นใหม่อายุราว 30-40 ปีที่มีความสัมพันธ์กับสีต่างๆ มีความเห็นกว้างขวางเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่ใช้แต่คนสูงอายุคนหน้าเดิม ๆ ถือว่าเป็นพวกเดียวกันคุยได้ พวกอื่นไม่เอา เพราะสุดท้ายก็จะแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ไม่สามารถสร้างพลังการปฏิรูปได้" ศ.ดร.ผาสุก กล่าว

Tags : ผาสุก พงษ์ไพจิตร • ปฏิรูปประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น